นิทานชาดก เรื่อง “การคบเพื่อน” และลักษณะของ “เพื่อนแท้”
นิทานชาดก เรื่อง “การคบเพื่อน” และลักษณะของ “เพื่อนแท้” ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้กล่าวถึง กาฬกรรณี เพื่อนของ เพื่อนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (คนที่รวยที่สุดในยุคนั้น) เรื่องมีอยู่ว่า…
กาฬกรรณี เคยเป็นสหายองท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ และเป็นศิษย์ร่วมสำนักร่ำเรียนมาด้วยกัน
ต่อมาเขาตกทุกข์ได้ยาก จึงมาขอทำงานให้กับอนาถบิณฑิกเศรษฐี และไว้ใจให้ช่วยเหลืองานทุก ๆ อย่าง ซึ่งเศรษฐีก็ยินดียิ่งนักที่เป็นที่พึ่งให้แก่สหายเก่าได้
แต่ในขณะเดียวกัน บรรดาญาติ ๆ ของเศรษฐีกลับไม่พอใจกาฬกรรณี เพราะชื่อของเขามีความหมายแปลว่า “กาลกิณี” ซึ่งกลัวว่าจะเป็นอัปมงคลแก่วงศ์ตระกูล พวกญาติ ๆ จึงเข้าไปพบท่านเศรษฐีและขอร้องให้ไล่คนๆนี้ออกไปเสีย
ท่านเศรษฐีจึงบอกว่า ” คนมีการศึกษาไม่ถือเรื่องชื่อหรอก เราจะทิ้งเพื่อนไปเพียงเพราะชื่อเขาไม่เป็นมงคลได้ยังไงกัน ”
วันหนึ่ง อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปบ้านสวนที่ต่างจังหวัด ท่านได้มอบหมายให้นายกาฬกรรณีเป็นผู้แลรักษาบ้านให้ (สมัยนี้เรียกว่า ร.ป.ภ)
ในตอนนั้นเองพวกโจรก็คบคิดกันว่า จะไปปล้นบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงวางแผนซุ่มโจมตีในตอนกลางคืน
ฝ่ายนายกาฬกรรณี ก็ระแวงว่าโจรจะมาปล้น จึงออกอุบายด้วยการให้ประโคมดนตรี เหมือนมีมหรสพใหญ่ บรรเลงตลอดทั้งคืน จนรุ่งแจ้งพวกโจรไม่มีโอกาสเข้าปล้นจึงทิ้งอาวุธไว้แล้วหลบหนีไป
วันรุ่งขึ้น เมื่อเศรษฐีเดินทางกลับบ้าน ได้สังเกตุเห็นอาวุธและอุปกรณ์ในการปล้นต่าง ๆ จำนวนมาก จึงได้สอบถามคนที่อยู่เรือนจนได้รู้ความจริงว่า นายกาฬกรรณีได้วางแผนขับไล่พวกโจรด้วยความเฉลียวฉลาด
เศรษฐีได้ทีจึงพูดว่า ” เห็นไหม ถ้าเราไล่เพื่อนของเราออกไปตามคำของพวกท่าน ทรัพย์สินของเราคงสูญสิ้นไปมิใช่น้อยในวันนี้ ฉะนั้นชื่อมันไม่มีความสำคัญเท่ากับจิตใจที่เอื้อเฟื้อต่อกันหรอก และเพื่อนที่ดีย่อมปกป้องสมบัติของเพื่อนได้ “
จากนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงให้เงินเป็นรางวัลแก่นายกาฬกรรณีเป็นจำนวนมาก
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การคบเพื่อนอย่าคบเพียงแค่ชื่อหรือเพียงแค่ฐานะ แต่จงคบเพราะจิตใจที่ดีงามของเขา